Auto Key Insight ประจำเดือนกรกฎาคม 2563 จัดทำโดย ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
การผลิตรถยนต์
ในเดือนกรกฎาคม 2563 ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์จำนวน 89,336 คัน ลดลงร้อยละ 48 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เมื่อพิจารณารายผลิตภัณฑ์พบว่าปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะรถ PPV ลดลงต่ำที่สุดจากตลาดส่งออกเป็นสำคัญ อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ลดลงร้อยละ 27 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และจากการสำรวจความเห็นของผู้บริโภค โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์ใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังมีความเห็นว่ายังคงไม่เหมาะสมที่จะซื้อรถยนต์ใหม่ในเดือนกรกฎาคม โดยเมื่อพิจารณารายผลิตภัณฑ์พบว่าปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดต่ำกว่า 1,500 ซีซี มีปริมาณการจำหน่ายลดลงมากที่สุดร้อยละ 39 จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้สถาบันการณ์เงินมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์มากขึ้น
ในส่วนของปริมาณรถยนต์จดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) ของรถ xEV ลดลงร้อยละ 15 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นผลจากรถ HEV และ PHEV ที่มีจำนวน 1,739 คัน ลดลงร้อยละ 18 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ รถ BEV ยังคงมีปริมาณการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ 57 คัน เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 4 คัน ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ในด้าน อุตสาหกรรมส่งออกรถยนต์ ลดลงร้อยละ 40 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการส่งออกรถยนต์ลดลงไปยังทุกตลาด และลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะรถ PPV ที่ลดลงร้อยละ 51 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รองลงมาคือรถกระบะ 1 ตัน ลดลงร้อยละ 46 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ตลาดตะวันออกกลางซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 3 (สัดส่วนร้อยละ 21)
มีปริมาณการส่งออกรถ PPV และรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และ 14 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าตามลำดับ
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่กล่าวมาส่งผลให้เดือนมกราคม – กรกฎาคม ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์สะสม 695,468 คัน จำหน่ายสะสม 387,975 คัน และส่งออกรถยนต์สะสม 400,114 คัน ลดลงร้อยละ 44 36 และ 38 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับ
การผลิตรถจักรยานยนต์
เดือนกรกฎาคม 2563 ไทยผลิตรถจักรยานยนต์จำนวน 119,008 คัน ลดลงร้อยละ 24 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวตลาดส่งออกเป็นสำคัญ โดยการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงในทุกประเภท และรถ Commuter มีปริมาณการผลิตลดลงมากที่สุดร้อยละ 25 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รองลงมาคือ รถจักรยานยนต์ขนาดต่ำกว่า 150 ซีซี มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 23
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยในเดือนกรกฎาคมปรับตัวดีขึ้น แต่ยังลดลงร้อยละ 8 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงทุกประเภท ยกเว้นรถจักรยานยนต์ขนาด 126 – 250 ซีซี ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รวมทั้งปริมาณจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ใหม่ (ป้ายแดง) ประเภท HEV ที่ลดลงร้อยละ 43 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ปริมาณจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) ของรถจักรยานยนต์ BEV เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีจำนวน 157 คันเพิ่มขึ้นจาก 55 คัน ในปีก่อนหน้า จากการที่เริ่มมีผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่เปิดตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ในขณะที่ตลาดส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 42 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการส่งออกรถจักรยานยนต์ขนาด 50 – 150 ซีซี ไปยังเวียดนาม และเมียนมาร์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่กล่าวมาส่งผลให้เดือนมกราคม – กรกฎาคม ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตสะสม 801,523 คัน จำหน่ายสะสม 869,002 คัน และส่งออกสะสม 174,992 คัน ลดลงร้อยละ 29 17 และ 18 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับ
ระบบสัญญาณเตือนภัยภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive Early Warning System)
ข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2563 ระบบส่งสัญญาณปกติถึงเดือนพฤศจิกายน 2563
อุปสงค์ต่างประเทศ ส่งสัญญาณปกติจากทุกดัชนี เนื่องจากหลายประเทศเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการกักกันเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดแล้ว แต่อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศคู่ค้าอย่างใกล้ชิด หากมีการแพร่ระบาดที่รุนแรงมากขึ้นประเทศต่าง ๆ อาจดำเนินมาตรการกักกันอีกครั้งหนึ่ง
อุปสงค์ในประเทศ ส่งสัญญาณปกติในทุกดัชนี เนื่องจากสภาวะอุตสาหกรรม
ยานยนต์ไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่อย่างไรก็ดี สภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังคงมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่อเนื่อง ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
อุปทาน มูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ส่งสัญญาเตือนจากการนำเข้าชิ้นส่วนที่ลดลง เนื่องจากในช่วงเดือนเมษายนมีการนำเข้าชิ้นส่วนมากสวนทางกับปริมาณการผลิตที่ลดลง